Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

โรคไข้เลือดออกเดงกี ภัยร้ายจากยุงลาย รู้ทันป้องกันไว้ก่อน

7 มิ.ย. 2567


     ความร้ายแรงของโรค ไข้เลือดออก ที่หลายคนทราบนั้นอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย ผู้ป่วยบางท่านมีอาการวิกฤติจนถึงขั้นเข้าห้องไอซียู ให้เลือด ให้น้ำเกลือ หากร่างกายอ่อนแอจนไม่สามารถต้านทานไหว หรือเกิดภาวะแทรกซ้อน ก็อาจส่งผลให้เสียชีวิตภายในระยะเวลาไม่กี่วันได้ ซึ่งการได้รับการดูแลรักษาตั้งแต่เริ่มแรกอย่างใกล้ชิดในทุกช่วงของอาการสามารถช่วยให้พ้นจากระยะวิกฤติและหายเป็นปกติได้

     โรคไข้เลือดออก (dengue fever) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกี (dengue virus) ซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ จัดอยู่ในกลุ่ม flavivirus สามารถแพร่กระจายได้โดยมียุงลายเป็นพาหะ ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าสถานการณ์การระบาดของไข้เลือดออกในหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศในเขตร้อนจะรุนแรงมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งเนื่องมาจากภาวะโลกร้อนทำให้ยุงแต่ละชนิดสามารถแพร่พันธุ์ได้มากขึ้นทำให้การแพร่กระจายของโรคเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย


อาการต่างๆ ที่ทำให้สงสัยว่าอาจเป็นไข้เลือดออก ซึ่งแบ่งออกเป็น
 3 ระยะ คือ
     1. ระยะแรก (ระยะไข้สูง) ระยะนี้มักเบื่ออาหารไม่ค่อยมีอาการจำเพาะ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงลอยหลายวัน โดยมักมีไข้สูง 38.5 – 40 องศาเซลเซียส อาจมีการปวดเมื่อยตัว คลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย และอาจมีอาการแสดงร่วมดังนี้

          - ปวดศีรษะ ผู้ป่วยมักจะมีอาการหน้าแดง
          - ปวดเบ้าตา ปวดรอบกระบอกตา
          - ส่วนใหญ่ตรวจพบตับโต  ได้ประมาณวันที่ 3-4 นับแต่เริ่มป่วย
          - มีจ้ำเลือด หรือผื่นแดงขึ้นที่บริเวณผิวหนังร่างกาย
          - อาจมีอาการปวดท้อง (บริเวณชายโครงขวา) กดเจ็บบริเวณลิ้นปี่
          - โดยระยะนี้มักมีอาการโดยเฉลี่ย 5 – 7 วัน
     2. ระยะวิกฤติ (ระยะ 3 วันอันตราย อาจเสี่ยงกับอาการช็อกได้) ผู้ป่วยมักมีไข้มาแล้วเป็นระยะเวลา 3 – 5 วัน อาการทั่วไปจะดูเพลียมากขึ้น  ซึ่งผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่ได้เข้าสู่ระยะนี้ ระยะวิกฤตเป็นระยะที่ต้องเฝ้าระวังมากที่สุด เนื่องจากอาจเกิดภาวะช็อกจากความดันโลหิตต่ำ หรือช็อกจากอาการเลือดออกที่อวัยวะภายในอาจมีอาการร่วมดังนี้
          - อาการปวดเมื่อยตัวมากขึ้น
          - ปัสสาวะน้อยลง ดูซึมลง หอบเหนื่อย
          - มีอาการปวดท้อง ท้องอืด เบื่ออาหาร
          - อาจมีเลือดออกในกระเพาะ
     ถ้าไม่มีอาการแทรกซ้อน และได้รับการรักษาทันและถูกต้อง ระยะนี้จะกินเวลา 24-48 ชม.
     3.ระยะฟื้นตัว เป็นระยะหลังไข้ลงโดยไม่มีอาการช็อก โดยพบว่าเกล็ดเลือดจะเริ่มกลับสูงขึ้น ชีพจรและความดันโลหิตเริ่มคงที่ดีขึ้น ปัสสาวะเริ่มออกมากขึ้น การไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลืองที่เคยซึมรั่วไปอยู่ในส่วนอื่นๆ ของร่างกายกลับเข้าสู่ระบบการไหลเวียนของเลือดเพิ่มขึ้น ทำให้อวัยวะต่างๆ เริ่มทำงานเป็นปกติ จากนั้นในอีก 48-72 ชั่วโมงต่อมาจะเข้าสู่ระยะที่เรียกว่าหายเป็นปกติ ตับที่โตจะลดขนาดลง ภายใน 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะเริ่มมีความอยากอาหารบ้าง อาการปวดท้องและท้องอืดจะดีขึ้น รู้สึกมีแรงมากขึ้น มักพบผื่นแดงและคันตามฝ่ามือและฝ่าเท้าโดยไม่มีการลอกตัวของผิวหนัง

วิธีการรักษา

     การรักษาโรคไข้เลือดออกยังไม่มียาจำเพาะหรือยาต้านไวรัสสำหรับโรคไข้เลือดออก ส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาแบบประคับประคอง เพื่อช่วยชะลอความรุนแรงและแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการดำเนินของโรคให้พ้นภาวะวิกฤติ เช่น ให้ยาลดไข้ และให้น้ำเกลือร่วมรักษาภาวะขาดน้ำ ถ้ามีเลือดออกผิดปกติจะให้เกล็ดเลือดเข้มข้น หรือ สารประกอบเลือด (พลาสมา) หากมีน้ำท่วมปอดจะมีการรักษาโดยให้ออกซิเจน และยาขับปัสสาวะ หรือถ้ามีการหายใจล้มเหลวอาจจะต้องพิจารณาใส่เครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น

     สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านโรคเลือดบางอย่าง เช่น ภาวะเลือดออกง่าย เพิ่งได้รับการรักษาโรคมะเร็งมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เป็นกลุ่มที่ต้องดูแลรักษาด้วยความระมัดระวัง เพราะเมื่อเข้าสู่ระยะวิกฤติของไข้เลือดออกอาจเกิดความรุนแรงได้มาก เนื่องจากมีเลือดออกผิดปกติได้

วิธีป้องกันไข้เลือดออก..!!

     1.ในปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถกำจัดเชื้อไข้เลือดออกได้ แต่สามารถเสริมภูมิด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกเดงกี แบบ 2 เข็ม เพื่อลดความรุนแรงของโรค และลดความเสี่ยงในการนอนโรงพยาบาลด้วยวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ดังนี้

          - วัคซีนไข้เลือดออก ชนิดใหม่ สามารถฉีดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่  ที่มีอายุระหว่าง 4-60 ปี
          - วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันไข้เลือดออก 4 สายพันธุ์ ได้  2% และป้องกันการนอนโรงพยาบาลได้  90.4%
          - ฉีดเพียงแค่ 2 เข็ม ห่างกัน 3 เดือน โดยสามารถฉีดได้ทั้งคนที่เคยและไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน โดยไม่ต้องตรวจภูมิคุ้มกันก่อนฉีด

กลุ่มผู้มีความเสี่ยง ที่ไม่ควรรับวัคซีน

          - กลุ่มที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
          - ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับยาเคมีบำบัด
          - หญิงตั้งครรภ์
          - หญิงที่อยู่ระหว่างให้นมบุตร
     2. ป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด โดยสวมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดมิดชิด ใช้สารไล่ยุงชนิดต่างๆ หรือติดมุ้งลวดใช้กันยุงในห้องนอนแบบมิดชิด
     3. ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณบ้านและใกล้เคียง ด้วยการปิดฝาภาชนะที่มีน้ำขังไม่ให้ยุงเข้าไปวางไข่ได้ เปลี่ยนน้ำในภาชนะที่ปิดไม่ได้ เช่น แจกัน ทุกสัปดาห์
ปล่อยปลากินลูกน้ำในอ่างบัว ปรับปรุงสภาพแวดล้อมบริเวณบ้านให้สะอาดปราศจากเศษวัสดุที่อาจมีน้ำขังได้ เช่น ขวดเก่า กระป๋องเก่า เป็นต้น

     อย่างไรก็ดี ในช่วงฤดูฝนนี้หากสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออกและมีอาการไข้สูงหลายๆ วัน ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรมาพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง เพราะหากล่าช้าเกินไป ผู้ป่วยอาจมีภาวะช็อกและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ในที่สุด

หากเคยเป็นไข้เลือดออกแล้ว ต้องฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกหรือไม่?
     ยังจำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก เพราะสามารถติดซ้ำได้หลายครั้ง เนื่องจากไวรัสเดงกีที่ก่อให้เกิดโรคไข้เลือดออกมีถึง 4 สายพันธุ์ การติดสายพันธุ์หนึ่ง ๆ ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันได้เฉพาะสายพันธุ์นั้น ๆ และจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์อื่น ๆ ได้แค่เพียงชั่วคราวเท่านั้น
     และยังพบว่า การติดเชื้อซ้ำครั้งที่ 2 อาจจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรครุนแรงได้  การฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกจึงเป็นการลดโอกาสในการติดเชื้อ ลดโอกาสในการนอนโรงพยาบาล และความรุนแรงของโรคได้


สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ. ชัชวาล  อึ้งธรรมคุณ แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์อายุรกรรมเฉพาะทาง โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์อายุรกรรมเฉพาะทาง
Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.